วัดศรีชุม วัดที่เก่าแก่และมีกลิ่มไอของยุคเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีให้สมัยพ่อขุนรามคำแหง

มรดกโลกของไทย วัดศรีชุม ประวัติศาสตร์สุโขทัย

‘จังหวัดสุโขทัย’ เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงตลอดจนมีเอกลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักกันดี นั่นก็คือเป็นเมืองโบราณอันอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นจังหวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของหนึ่งในมรดกโลกอีกด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ถ้าพูดถึง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ผังเมืองของจังหวัดสุโขทัย เป็นรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาว 2 กิโลเมตร กว้าง 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ในแต่ละด้าน ณ ปัจจุบันนี้ภายในยังคงปรากฏให้เห็นร่องรอยพระราชวังรวมทั้งวัดอีก 26 แห่ง โดยวัดขนาดใหญ่ที่สุด คือ ‘วัดมหาธาตุ’ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กร UNESCO มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมหลายแสนคน/ปี วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้อุทยานแห่งนี้เป็นมรดกโลกพร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์อื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ ณ กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย โดยตั้งชื่อว่า ‘เมืองสุโขทัยและเมืองบริวาร’

วัดศรีชุม ศาสนโบราณแห่งสมัยพ่อขุนรามคำแหง

‘วัดศรีชุม’ เป็นศาสนโบราณอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อว่า ‘พระอจนะ’ ในอดีตพระพุทธองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในมณฑป หากแต่ในปัจจุบันมณฑปได้พังทลายไปตามกาลเวลาหมดแล้ว เมื่อไร้หลังคากันร้อนกันหนาว พระอจนะจึงกลายเป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งจนถึงทุกวันนี้

พระอจนะ มีชื่อเสียงเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งยังมีเอกลักษณ์อันน่าศรัทธาเลื่อมใส ดึงดูดให้ผู้มาเยือนจากต่างถิ่นมาเยี่ยมชมและสักการะตลอดทั้งปี อีกทั้งยังถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวแห่งสำคัญที่สุด อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย โดยใน ปัจจุบันนี้ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่อยู่ไม่ไกลจากโบราณสถานแห่งนี้มากนัก มีวัดสร้างใหม่และมีพระเข้ามาจำพรรษา พร้อมใช้ชื่อว่าวัดศรีชุม แบบเดียวกัน เมื่อไปเยือนระวังจะเข้าใจผิด โดยคำว่า วัดศรีชุม เป็นคำเรียกพื้นเมืองโบราณ หมายถึง ต้นโพธิ์ หากแต่นักประพันธ์ในพระราชพงศาวดาร ยังไม่เข้าใจในความหมายนี้ เนื่องจากเป็นภาษาท้องถิ่น จึงเรียกชื่ออย่างผิดเพี้ยนไปว่า ‘ฤๅษีชุม’ มีการคาดการณ์ว่า วัดศรีชุม สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง จากการวิเคราะห์ลักษณะมณฑปรูป 4 เหลี่ยมจัตุรัส มีพระพุทธรูปปูนขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานไปอีกว่า ในอดีตน่าจะมีหลังคาคล้ายโดมขนาดใหญ่ครอบไว้อีกทีหนึ่ง ทางด้านหน้าเปิดเป็นช่องเพื่อให้เห็นพระพักตร์พระพุทธรูปอันแสนงดงามแต่ไกล